งานนมัสการพระบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ 2560 เปิดให้ขึ้นนมัสการ ในวันที่ 28มกราคม – 28มีนาคม 2560 ณ บริเวณยอดเขาคิชฌกูฏ ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ
ว่ากันว่า การมานมัสการพระบาทพลวงที่เขาคิชฌกูฎนั้น ไม่ว่าจะขอพรใดๆ พรของท่านจะสมพรปรารถนาหนึ่งข้อเสมอ…
Kitchakuch Mountain – English Version
ดังนั้นช่วงเทศกาลเปิดให้ผู้คนเข้าไปสักการะรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ ในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏท้องที่อำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี จึงหนาแน่นคับคั่งไปด้วยผู้คนที่มีจิตศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา
และนอกจากความเชื่อความศรัทธาทางศาสนาแล้ว ยอดเขาคิชฌกูฎเป็นยอดเขาที่มีทิวทัศน์งดงาม และยังคงไว้ด้วยความธรรมชาติอีกด้วย ยอดเขาคิชฌกูฎ นี้จุดสูงสุดอยู่ในระดับความสูง 1,050 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 58.31 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,444.05 ไร่
รอยพระพุทธบาท (พระบาทพลวง) บนยอดเขาคิชฌกูฏมีความกว้าง 1เมตร และยาว 2 เมตร และถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดของประเทศไทย
แอบสงสัยเจ้าหินก้อนกลมๆ ใหญ่ๆ ที่อยู่ข้างๆ ของรอยพระบาท ว่าเหตุใดจึงมาตั้งเด่นเป็นสง่าบนยอดเขาแห่งนี้ สืบหาข้อมูลมาได้ว่า หินกลมก้อนนี้ เรียกว่า หินลูกพระบาท ตั้งเด่นขึ้นมาอย่างน่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉย ๆ บนยอดเขาคิชฌกูฎ โบราณว่า สามารถเอาสายสิญจ์ลอดผ่านใต้หินก้อนนี้ได้!!!
แต่ว่าการขึ้นไปสักการะพระบาทพลวง บนยอดเขาคิชฌกูฎนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราจะต้องขึ้นรถที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานได้จัดเตรียมไว้ให้บริการเท่านั้น ซึ่งเป็นรถกระบะค่ะ นั่งเกาะกันข้างหลังกระบะ ตื่นเต้นดี ถ้ากลัวมากขอนั่งกับคนขับรถเลยนะคะ แต่อาจจะเมารถได้ค่ะ เพราะว่า ทางลดเลี้ยวและชันมาก
ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ที่ลักษณะโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชัน เนื่องจากการดันตัวของเปลือกโลก เชื่อได้เลยว่า ถ้าไม่มีความชำนาญเรื่องเส้นทางจริงๆ ไม่สามารถขับขึ้นไปได้ ขับช้าไปก็ไม่ได้ เขาก็ขับเร็วกันพอสมควรค่ะ ยิ่งช่วงที่เป็นโค้งหักมุม ถ้ารถสวนกัน เขาจะสลับเลนกันค่ะ มันเป็นเทคนิคที่จะไม่ให้ขับตกเขา แต่ว่าเราตื่นเต้นมาก เพราะนึกว่าเขาขับผิดเลน!
กว่าจะได้ตั๋วมาเป็นที่อุ่นใจ ว่ายังไงเราก็มีตั๋ว แต่พอฟังเขาเรียกเลขที่ตั๋วรู้สึกว่าช่างห่างไกลเหลือเกินกว่าจะถึงเรา อาจจะเป็นเพราะว่า นี่เป็นอาทิตย์สุดท้ายที่เขาเปิดให้นมัสการพระบาทพลวงเขาคิชฌกูฎ เพราะจำได้ว่าเรามาถึงและซื้อตั๋วได้ประมาณ 8โมงครึ่ง ตอนเช้า เขายังเรียกเบอร์ 154 อยู่เลย แต่เบอร์ตั๋วของเราตั้ง 461 แน่ะ หมายความว่าเราต้องรอถึง 307 คัน ซึ่งแต่ละคันก็บรรจุคนได้ 10 คน โอ้ว แสดงว่า มีคนรอก่อนหน้าเราถึง 3070 คน!!! แต่กระนั้นก็เถอะใช้เวลารอขึ้นรถไปเกือบๆ สองชั่วโมงเต็มๆค่ะ ไม่เลวร้ายมาก…
พอได้นั่งรถความเครียดที่เกิดจากการรอคอยก็หายไป เพราะว่ามันช่างน่าตื่นเต้นกว่าเครื่องเล่นหวาดเสียวใดๆ ของ ดีสนีย์แลนด์ ซะอีก
ฝรั่งที่ไปด้วยเลยบอกได้คำเดียว อเมซิ่งมากๆ !!!
จอดแรก แปลว่ายังไม่ถึงค่ะ แค่ครึ่งทาง จุดนี้เราจะต้องซื้อตั๋วอีกรอบเพื่อที่จะขึ้นรถอีกคัน(แบบเดียวกัน) ไปอีกต่อค่ะ สรุปเลย ขาขึ้นต้องเตรียมซื้อตั๋ว 2 ใบ ใบละ 50บาท และอีก2 ใบขาลง ดังนั้นแล้วค่ารถขึ้นรถลงทั้งหมด 200 บาทต่อท่านค่ะ
จอดต่อมาของขาขึ้นนั่นแหล่ะ เป็นเวลาที่จะใช้ขาของท่านให้คุ้ม เพราะว่าท่านต้องปีนขึ้นไปบนยอดเขาซึ่งมึความชันและไกลถึง 1 กิโลเมตรทีเดียว ถ้าหากมาช่วงที่มีคนมาเยอะ การเดินทางขึ้นเขาแทบว่าต้องเดินต่อตัว ค่อยๆ ขึ้นไปกันเลยทีเดียว
นี่เป็นปีแรกที่เราไปค่ะ 2008 ปีนั้นไปแบบไม่ได้เตรียมตัว พอไปถึงเห็นเขาทำอะไรก็ทำตามหมด อย่างเช่นซื้อดอกดาวเรืองแล้วโปรยตลอดทางเดินขึ้นเขา แต่พอซื้อหนังสือของหลวงพ่อเขียนกลับมาอ่าน ท่านบอกว่าไม่เคยมีธรรมเนียมใดให้โปรยดอกไม้ขึ้นเขา นอกจากทำไปโดยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ แล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมตามมา
ท่านยังเขียนอีกว่า อยากให้ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของเขาคิชกูฎค่ะ ดังนั้น ทางที่ดีเราเลยไม่สนับสนุนให้ทำค่ะ
อีกอย่างที่เราจะเห็นตลอดทางเดินก็คือ เหล่าธูปสีสันสวยงามตามก้อนหินค่ะ ส่วนใหญ่จะปักเป็นรูปโค้ง จริงๆ ก็ดูสวยงามดีค่ะ แต่ธูปก็เป็นปัญหาขยะไม่ยิ่งหย่อนไปจากดอกดาวเรืองที่โปรยกันตามพื้น ขอฝากไว้พิจารณานะคะ เพราะพระท่านบอกมาอีกทีค่ะ
แต่ใครเลยจะรู้ (ถ้าไม่ได้อ่าน Somethingjam.com) ว่าเขามีทางลัดให้ท่านลัดเลาะตัดตรงขึ้นไปยังยอดเขาคิชฌกูฎ!!! โดยสังเกตุจากรูปปั้นของยักษ์ หรือ ทศกัณฑ์ (ภาพซ้าย) แล้วเดินเลี้ยว ซ้ายขึ้นไปตลอดทาง แต่ทางนี้ขอบอกว่า ทั้งชันและแอบลื่น หากเป็นช่วงที่มีฝนตกปรอยๆ ควรจะไปทางที่เขาจัดเตรียมไว้ให้ดีกว่าค่ะ
จำไว้ว่า การเดินป่านั้น เราไม่สามารถคาดหวังว่าจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยหากเราไม่ปฏิบัติตามป้ายและดูกำลังความสามารถของตนเอง ศึกษาหาข้อมูลก่อนการเดินทางก็พอจะช่วยได้ค่ะ อย่างเช่น “ผ้าแดง” นี่คือผ้าที่ใช้ผูกบอกขอบเขตของเขาคิชฌกูฎ ว่ากันว่า หากเดินเลยผ้าแดงไป จะหลงเข้าไปในดินแดนลับแล และไม่สามารถหาทางกลับออกมาได้ !
บางคนก็ชอบทำให้เข้าใจผิดค่ะ ด้วยการบอกต่อๆ กันว่า ถ้าใครเดินไปไม่ถึงผ้าแดง แสดงว่ายังมาไม่ถึงเขาคิชฌกูฎค่ะ อันนี้พระท่านก็บอกมาว่าไม่ถูกต้อง เขาเอาไว้ป้องกันไม่ให้หลงป่าค่ะ และการมาเขาคิชฌกูฎก็เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท ไม่ใช่ผ้าแดงค่ะ
เย้!!! มาถึงแล้วค่ะ ถึงแล้วก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ก็ภาพถ่ายยังไงก็ไม่ดูดีเท่ากับของจริง นอกจากเราได้สักการะขอพรจากพระบาทพลวงแล้ว ยังรู้สึกเอิบอิ่มใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของสาธุชนท่านอื่นๆ เพราะเมื่อมีโอกาศพูดคุยกับท่านอื่นๆ ซึ่งบางท่านก็เหมารถมาจากจังหวัดอื่นแสนไกล มากลางเต้นท์นอนรอเพื่อที่จะได้ขึ้นรถ และบางท่านก็รีบตื่นมาซื้อตั๋วตั้งแต่เที่ยงคืน เพื่อที่จะได้ขึ้นมายังยอดเขาคิชฌกูฎได้ช่วงเข้าตรู่พอดี ได้ฟังได้รู้ขนาดนั้นแล้ว รู้สึกว่า ความทุ่มเทของเราเพื่อจะขึ้นไปพิชิตยอดเขาคิชฌกูฎนั้นง่ายแสนง่ายกว่าหลายๆ ท่าน ณ ที่นี่…
วันที่เรามา ผู้คนหลั่งไหลมากันไม่ขาดสาย และแออัดมากๆค่ะ ขนาดถ่ายรูปก็ต้องออกมายืนถ่ายกันข้างนอก เพราะว่าคนเยอะมาก (ขยะก็เยอะมากค่ะ ถุงพลาสติกเกลื่อนเลย…)
แต่ถ้ามาช่วงที่คนไม่เยอะก็สามารถจะชื่นชมธรรมชาติได้อย่างเต็มปอดค่ะ
และไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมค่ะ ความเชื่อความศรัทธาที่หลั่งไหลกันมากราบไหว้สักการะรอยพระพุทธบาทแล้ว ยังคงได้ความสวยงามจากธรรมชาติเป็นของแถมอีกด้วย…
ได้สักการะและชื่นชมจนได้เวลาอันควร (อย่าอยู่ให้เย็นมากค่ะ เพราะว่า อาจจะเป็นช่วงที่ทุกคน แห่กันลงมา จะทำให้ต้องรอรถขาลงอีก) พวกเราก็เดินลงมาเพื่อขึ้นรถกลับลงไปยังภาคพื้นดิน…และนั่น ก็เป็นเหมือนของขวัญชิ้นสุดท้ายให้ทุกท่านได้ร่วมสนุก ด้วยการนั่งรถแบบไสด์ลงมาตลอดทาง !!!
สำหรับท่านใดที่พลาดการเข้าชมและสักการะพระบาทพลวง ยอดเขาคิชฌกูฎในปีนี้ ก็เตรียมตัวไว้ปีหน้าก็ได้ค่ะ อย่าลืมนำผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าขนหนูผืนเล็กๆ ไว้เช็ดหน้าเช็ดตาจากการขึ้นรถแล้ว เตรียมท้องให้ชินกับอาหารที่ไม่ค่อยถูกปาก (ส่วนใหญ่โหวตอาหารที่อร่อยที่สุดของเขาคิชฌกูฎคือ มาม่า..) ไม่ว่ายังไง ก็เก็บเขาคิชฌกูฎไว้ในลิสต์หนึ่งในสถานที่ที่ไม่ควรพลาดไว้ด้วยนะคะ…
![]() https://www.somethingjam.com/pliew-waterfall-chanthaburi_th |
![]() And The Legend of The Four Buddhas’ Footprints, a highly prestigious and popular temple among Thais, very few foreigners make it out here… |
Leave a Reply