จตุรัสเทียนอันเหมิน และ พระราชวังต้องห้าม (วังกู้กง) เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

English Version Tiananmen Square & Forbidden City
เราเริ่มทัวร์ปักกิ่งกันวันแรกวันนี้ค่ะ โปรแกรมหลัก คือพาไปชมจตุรัสเทียนอันเหมิน ชมพระราชวังต้องห้าม แว่ะหอบูชาฟ้าเทียนถาน แล้วชมกายกรรมปักกิ่งตอนค่ำ นับว่าเป็นทัวร์เต็มวันจริงๆ ค่ะ

ตามแพคเกจทัวร์ที่พวกเราซื้อ เราจะได้คนขับรถ กับไกด์ภาษาอังกฤษนำทางหนึ่งท่าน แต่บัตรค่าเข้าชมแต่ละที่เรายังต้องจ่ายเพิ่มเองต่างหากค่ะ แต่ก็นิดหน่อย แพคเกจทัวร์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ไม่ได้รวมค่าเข้าชมสถานที่ฯ

สายของวันนี้ แดดอ่อนๆ ในเดือนเมษายน เราเริ่มกันที่จตุรัสเทียนอันเหมิน (Tien En Men Squar) ได้ยินชื่อเสียงมานาน แต่พอมาถึง ก็เป็นแค่พื้นที่สี่เหลี่ยมธรรมดาๆ แต่เป็นจตุรัสที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้นยังมีประวัติความเป็นมาอย่างซอกช้ำ และช่ำชอง เพราะว่าจัตุรัสเทียนอันเหมินคือที่ตั้งของเหตุการณ์สำคัญมากมายในประวัติศาสตร์จีน โดยเฉพาะ การชุมนุมประท้วงในปี พ.ศ. 2532 มีผู้เข้าร่วมถึงหลักแสน ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ได้มีการบันทึกไว้ โดยมีข่าวลือกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณสองพันห้าร้อยคน บาดเจ็บ 7,000-10,000 คน แต่การประท้วงนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ…

มีทหารยืนประจำแต่ละจุด ทั่วจตุรัสฯ เลยค่ะ ก็อย่างที่กล่าวไปว่าจัตุรัสเทียนอันเหมินมีความสำคัญในวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศจีน
แต่โดยรวมๆ ก็ไม่มีอะไร ถ้ามาที่จตุรัสฯ อย่างเดียวก็น่าเบื่อค่ะ แต่ไกด์ของเราก็พาเดินผ่านประตูเทียนอันเหมินเข้าไปในพระราชวังต้องห้าม!!! นี่ถ้าไม่มีไกด์ เราอาจจะหลงได้ค่ะเพราะว่าจัตุรัสนอกจากกว้างใหญ่ไพศาลอย่างไม่มีเหตุผล แล้วไม่มีป้ายบอกทางอะไรเลยค่ะ!!!

นักท่องเที่ยวเยอะมากค่ะ ขณะที่่ต่อแถวต้องจับมือกันไว้เพราะว่าหลุดหรือหลงกันไป ไม่รู้จะตามหากันยังไงเลยค่ะ โดยจากสถิติล่าสุดบอกว่ามีผู้เข้าชมพระราชวังฯเฉลี่ยวันละประมาณ 5 หมื่นคน หรือปีละราว 18-19 ล้านคน เลยนะคะ แต่ส่วนใหญ่ที่พวกเราเห็นคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนนี่แหล่ะค่ะ เพราะคนจีนถือว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของพระราชวังต้องห้ามให้ได้ ดังนั้นเมื่อไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลจีนได้มีนโยบายจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อจะอนุรักษ์สภาพของอาคารและสวนหย่อมไว้

กำแพงประตูทางเข้าก็สร้างขนาดใหญ่และมีความสูงราวๆ 11 เมตร เรียกว่าสูงมากจนคิดว่าไม่มีใครจะปีนข้ามไปได้เลยค่ะ แต่ประตูก็มีนัยหรือความหมายด้วยนะคะ โดยประตูฝั่งนอกพระราชวังฯ จะเป็นสี่เหลี่ยมค่ะ นั่นหมายความว่า นี่คือประตูทางด้านดินแดนมนุษย์ แต่เมื่อเดินเข้าไป หรือประตูด้านใน ก็จะเห็นว่าประตูเป็นรูปโค้งมนค่ะ นี่ก็หมายความว่า เป็นประตูฝั่งดินแดนสวรรค์ เห็นไหมละค่ะว่าจักรพรรดิ์ฯ หรือผู้สร้างเขาล้ำลึกขนาดไหน!!!

ที่ทำกำแพงให้สูงใหญ่เข้าไว้นี่อาจจะเป็นเพราะว่า ในอดีต พระราชวังแห่งนี้ เป็นเขตหวงห้ามไม่ไห้ประชาชนเข้า แม้ข้าราชการชั้นสูง ยังต้องขออนุญาต เป็นกรณีพิเศษ จึงเรียกพระราชวังนี้ว่า “พระราชวังต้องห้าม”

โดยจักรพรรดิในรัชสมัยนั้น จะทรงประทับอยู่ในพระราชวังแห่งนี้ มีนางสนมถึง 9,000 คน!!! และยิ่งสมัยของพระนางซูสีไทเฮา แค่เวลาเสวยพระนางฯก็จะต้องมีพระกระยาหารถึง 148 ชุด แล้วยังมีข่าวลืออีกว่า ทรงส่งขันทีไปเสาะหาชายหนุ่มและพาเข้าวัง หลังจากนั้นแล้วจะไม่มีผู้ใดพบเห็นชายหนุ่มๆ เหล่านั้นอีกเลย ไม่นึกเลยว่าพระนางซูสีไทเฮา ก็กิน เอ้ย เสวย ผู้ชายเหมือนกันกับเรา…

กล่าวถึงการก่อสร้างพระราชวังต้องห้ามนั้น ใช้ช่างฝีมือกว่าหนึ่งแสนคน คนงานมากกว่าหนึ่งล้านคน ไม้ที่ใช้เป็นไม้หนามมู่ เป็นไม้เนื้อแข็งชั้นดี มิน่าล่ะ พระราชวังต้องห้ามแห่งนี้ ถึงได้อลังการงานสร้างจริงๆ ค่ะ
แต่ก็ได้แต่กว้าง กับ ใหญ่ ดูข้าวของภายในตำหนักแต่ละหลัง ก็ไม่มีอะไรนะคะ นอกจากบัลลังภ์ ที่นั่ง ที่นอนของสมัยโบราณ (ถ้าเปรียบกับพระบรมหาราชวังฯ ของประเทศไทยแล้ว ข้างในเราสวยและประณีตกว่าเยอะค่ะ)

เอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดของที่นี่ก็คือ เจ้าตัวสิงโตคู่หน้าตำหนักต่างๆ (หรือแม้แต่หน้าตึกเกือบทุกตึก ในเมืองปักกิ่ง) จะต้องเป็นสิงโตคู่พ่อแม่ค่ะ โดยจะสังเกตุว่าตัวไหนเป็นตัวแม่ก็ดูตรงเท้าจะเล่นกับลูกสิงโต ส่วนตัวไหนเป็นสิงห์โตตัวผู้ก็จะเล่นกับลูกบอลค่ะ

หากนับพื้นที่รวมระหว่างพระราชวังหลวง รวมทั้งอุทยาน จตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วก็คาดว่ามีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ กว้างใหญ่โดยไม่รู้จะเทียบกับอะไรดี เอาเป็นว่า กว้างมากๆ แล้วกันค่ะ เดินกันเพลินๆ ครึ่งวันยังไม่รู้ว่าเดินได้รอบพระราชวังฯ หรือเปล่า?
ค่าเข้าชมที่พระราชวังฯ คนละ 60 หยวน หรือประมาณ 300 บาทค่ะ ก็นับว่าเป็นค่าเข้าชมที่คุ้มมากๆ ค่ะ
ทัวร์วันนี้ของพวกเรายังไม่จบ อ่านต่อ หอบูชาฟ้าเทียนถาน และก็ดูกายกรรมปักกิ่ง

หรืออ่าน ทัวร์ทั้งหมดในประเทศจีน คลิกที่นี่…

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll Up
Scroll to Top