(Click here for Day 3 in English)
วันที่สาม 28 ธันวาคม 2554
ต่อจาก ไปปาย(วันที่1) และ ปายไปแม่ฮ่องสอน (วันที่ 2)
เพราะว่ามีน้องคนสวยคนหนึ่งที่ที่ทำงานเดียวกัน เพิ่งกลับมาจากปาย และสิ่งเดียวที่เธอประทับใจมากคือ ถ้ำลอด เราก็เลยหาทางไปให้ได้ และยิ่งได้คุยกับพี่ไกด์ที่พาไปเที่ยวแม่ฮ่องสอนเมื่อวันก่อน ที่คุณพี่แนะนำอย่างหนักแน่นว่าเป็นถ้ำที่สวยมากๆๆ เราเลยต่อรองราคาค่าเช่ารถตู้พี่แกมาได้ 2000 บาท (รวมคนขับรถ น้ำมัน เสร็จสรรพ) แล้วก็อ้อนขอให้คุณพี่ขับรถพาเที่ยวสถานที่หลักๆ ของปาย อีกสามที่ คือ สะพานประวัติศาสตร์ ปายแคนยอน และก็คอฟฟี่อินเลิฟ คราวนี้ดีหน่อย ที่มีแต่พวกเรากันเอง…
ค่าตะเกียงเจ้าพายุพร้อมผู้นำทาง 1 ท่าน และ แพหนึ่งแพ ต่อนักท่องเที่ยว 1-4 ท่าน ราคาทั้งหมดรวมแล้ว 550 บาท (แต่ถ้าหน้าฝน เขาจะเปิดให้เข้าแค่ถ้ำเดียว คือถ้ำเสาหิน หรือบางท่านจะเข้าเป็นบางถ้ำ ราคาก็จะถูกลง) คนนำทางพร้อมตะเกียงพายุจะเป็นผู้นำทางและเล่ารายละเอียดในถ้ำให้เราทราบ ด้วยความที่ตัวถ้ำคงไว้ซึ่งความธรรมชาติ จะไม่มีไฟฟ้าเลย พอเข้าไปในถ้ำแล้ว จะรู้ว่า เราขาดผู้นำทางคนนี้ไม่ได้เลยค่ะ
แต่เนื่องด้วย เขาขอความร่วมมือไม่ให้เปิดแฟลชเวลาถ่ายรูป เพราะอาจจะไปรบกวนค้างคาวที่อาศัยภายในถ้ำเป็นพันๆ ตัว สุดท้ายภาพที่ได้ก็ค่อนข้างเบลอๆ เพราะพวกเราก็ไม่ค่อยมีความสามารถเล่นกล้องเท่าไร แต่รับประกันได้ว่าเป็นถ้ำที่สวยจริงๆ สวยแบบต้องเห็นด้วยตา และอย่าลืมซื้ออาหารปลาเข้าไปด้วย เพราะว่าปลาเยอะมาก (เอาสบู่ติดมือไปไว้ล้างมือด้วยค่ะ เพราะว่าถ้ำที่สาม จะมีอุจจาระนก หรือค้างคาว เยอะนิดนึง)
เสร็จสรรพเราก็เดินทางกลับไปปายอีกชั่วโมงกว่าๆ จากราคาที่ต่อรองไว้ก็ได้เที่ยวอีกสามที่ ที่จัดเป็นที่ท่องเที่ยวในปาย จริงๆ ซะที เริ่มด้วยที่แรก สะพานประวัติศาสตร์
“สะพานประวัติศาสตร์ ท่าปาย” ที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดย กองทหารญี่ปุ่นจได้เกณฑ์ชาวไทยจากหมู่บ้านต่างๆ ให้ขุดถางเส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานต่อคนวันละ 50 สตางค์ – 1.50 บาท ในขณะเดียวกันชาวบ้านอีกฝั่งหนึ่งจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ถูกเกณฑ์ว่าจ้างให้ขุดถางเส้นทางมุ่งหน้าไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยมาบรรจบกันที่ฝั่งแม่น้ำ บริเวณบ้านท่าปาย อำเภอปาย แล้วจึงร่วมแรงกันใช้ช้างลากไม้ใหญ่หน้า 30 นิ้ว ออกจากป่า ตั้งเป็นเสาสร้างขึ้นเป็นสะพาน กลายเป็นเส้นทางและสะพานแห่งประวัติศาสตร์สงคราม พ.ศ. 2489 สงครามสิ้นสุด กองทหารญี่ปุ่นได้ถอยทัพกลับ และทำการเผาสะพานไม้ทิ้ง ชาวบ้านซึ่งเคยใช้สะพานจึงร่วมกันสร้างสะพานไม้ขึ้นมา เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำปายอีกครั้ง พ.ศ. 2516 เกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในเดือน สิงหาคม ส่งผลรุนแรงทำลายเรือกสวนไร่นาเสียหาย รวมทั้งน้ำป่าได้พัดสะพานไม้หายไป ทางอำเภอปาย ได้ทำเรื่องขอสะพานนวรัฐเดิม ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ใช้การแล้ว นำมาใช้แทนสะพานไม้ที่ถูกกระแสน้ำป่าพัดทำลาย พ.ศ. 2518 สะพานนวรัฐจาก จังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกทยอยย้ายขึ้นมาประกอบใช้ใหม่ หลังจากนั้น 1 ปีเต็ม จึงได้ประกอบขึ้นจนแล้วเสร็จ เป็นสะพานประวัติศาสตร์ท่าปายในปัจจุบันได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอำเภอปายอยู่เป็นประจำ | |
ปายแคนยอน หรือว่ากองแลน (?) มีความหมายตามภาพ หมายถึง ถนนของตัวตะกวดใช้สัญจรบนเส้นทางเล็ก ๆ บนเหวลึก |
ห่างกันไปไม่ถึง สิบนาที เราก็มาถึง ปายแคนยอน ปายแคนยอน เป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเกิดจากการยุบตัวของดินที่อยู่ตามหุบเขา จนเป็นทางเส้นเล็ก ๆ บนสันเขา (เหมือนแพะเมืองผี จ.แพร่) สัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ สามารถสัญจรบนเส้นทางเล็ก ๆ นี้ได้ บรรยากาศด้านบนปายแคนยอนอากาศเย็นสบาย เพราะอยู่บนเทือกเขาสูง นักท่องเที่ยวสามารถชมความสวยงามของธรรมชาติที่มองไปจนสุดสายตาบนปายแคนยอนนี้ |
คอฟฟี่ อิน เลิฟ ที่สุดท้ายของโปรแกรมทัวร์วันนี้ | ก็เป็นไปตามกระแส ไม่รู้ว่าทำไมร้านกาแฟแห่งนี้ถึงอยู่ในโปรแกรมทัวร์นัก |
แต่เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวก็ต้องแว่ะไปดู และก็พบว่านักท่องเที่ยวเยอะมาก เยอะกว่าที่ปายแคนยอนซะอีก คนส่วนใหญ่มากันเป็นคู่ๆ แล้วก็ถ่ายรูปกับป้ายหน้าร้าน หลังจากนั้นก็แว่ะเข้าไปในร้านกาแฟ (ก็เขาเป็นร้านกาแฟนี่นา) สั่งมอคค่า กับชาดำเย็น พร้อมด้วยสตรอเบอรรี่ชีสเค้กมาลองทาน รสชาติกาแฟนั้นบอกไม่ถูก รู้แต่ว่าหวานไป ส่วนชาดำเย็นที่สั่ง ก็ได้เป็นชานมเย็นแทน ไม่รู้ว่าเราพูดไม่ชัด หรือว่าพนักงานมัวแต่หยอกล้อเล่นกัน สรุปหน้าที่ไปตกหนักที่ขนมเค้ก ก็นับว่าไม่ทำให้เสียชื่อ เพราะสตรอเบอรรี่ชีสเค้กสดและหวานมันมาก ราคาทุกอย่างก็ตกอย่างละ 50 บาท ขึ้นไป แต่ที่น่าจะเป็นที่มาของชื่อเสียงที่นี่ น่าจะเป็นวิวทิวทัศน์หลังร้านที่ดูร่มรื่นและเป็นธรรมชาติมาก…อืม แต่ทำไมคนส่วนใหญ่สนุกสนานแต่ป้ายหน้าร้านน้า…
จบ แบบปลายปาย แล้วอย่าลืมไปเที่ยวปายกันนะคะ